เมื่อไหร่ประคบร้อน ตอนไหนประคบเย็น

เมื่อไหร่ประคบร้อน ตอนไหนประคบเย็น

อาการไหนต้องประคบอะไรเรื่องนี้น่าสับสนจริงๆ ! เพราะถ้าประคบผิดไม่ใช่แค่ไม่ช่วย แต่อาจมีผลเสียกับร่างกายด้วยนะครับ

ประคบเย็น

เน้นลดการอักเสบเป็นหลัก เราจึงต้องสังเกตอาการที่บ่งบอกว่าเกิดการอักเสบก่อน ได้แก่ “ปวด บวม แดง ร้อน” (มีอาการไม่ครบ 4 อย่างก็เป็นการอักเสบได้) เพราะเมื่ออวัยวะของเราเกิดการอักเสบ หลอดเลือดจะขยายตัวเพื่อขนส่งเม็ดเลือดขาวได้สะดวกรวดเร็ว ราวกับรถฉุกเฉิน การที่หลอดเลือดขยายนี่แหล่ะที่ทำให้เกิดอาการแดง และ ร้อนได้ 

เมื่อประคบเย็นในจุดที่อักเสบ ความเย็นจะช่วยลดอาการปวด บวม ควรประคบไว้ 10-15 นาทีครับ

ประคบร้อน

เน้นคลายกล้ามเนื้อที่ตึง เกร็งเป็นหลัก เช่น ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดท้องเมนส์ เกิดจาดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อมดลูก ความร้อนจะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวจึงบรรเทาปวดได้ 

ควรประคบร้อนไว้ 15-20 นาที เพื่อให้ความร้อนช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น กล้ามเนื้อจึงตึงน้อยลง

ข้อควรระวังในการประคบร้อน-เย็น

  1. ผู้ที่เป็นเบาหวาน หรือ โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดไม่ควรประคบร้อน เนื่องจากหากมีอาการปลายประสาทส่วนปลายเสื่อมจากโรค ปลายเท้าจะรับความรู้สึกได้น้อยมากจนไม่รู้ว่าน้ำร้อน ร้อนมากไปหรือเปล่า แล้วเสี่ยงต่อการเกิดแผลได้ ซึ่งการเป็นแผลที่เท้าสำหรับผู้ที่เป็นโรคนี้นั้นเป็นเรื่องใหญ่ แผลอาจลุกลามจนต้องตัดขาทิ้งเลยทีเดียว
  2. ควรมีผ้ารองประคบ ทั้งการประคบร้อน-เย็น ควรมีผ้าลองสัก 1-2 ชั้น เพื่อกันความร้อน-เย็นมากมาสัมผัสกับผิวโดยตรงจนเกิดแผลพุพองได้
  3. ไม่ควรประคบบริเวณที่มีแผลอยู่ เพราะจะเสี่ยงต่อแผลติดเชื้อได้ง่าย

แต่ถ้าเป็นแผลใจ ร้อนหรือเย็นแค่ไหนก็ประคบได้ ถ้าเป็นเธอ ฮริ้ววว